ก่อนอื่นต้องชี้แจงก่อนว่าบทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของตนเอง และเป็นการเขียนถึงผู้ใช้ระดับทั่วไปถึงผู้ใช้ระดับกลาง ไม่ได้กล่าวรวมถึงงานด้านภาพยนตร์และโฆษณา
จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ (hardware) และซอฟต์แวร์ (software) และเทคโนโลยีการบันทึกภาพ ทำให้การถ่ายทำและการตัดต่อภาพเคลื่อนไหวหรือวีดิโอ ทำได้ง่ายกว่า 10 ปีก่อนที่ถือว่ากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลวีดิโอ (Digital Video: DV) มาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนโดยใช้ตารางด้านล่างนี้
ตารางที่ 1 เปรียบคุณสมบัติของกล้องและการบันทึกภาพเคลื่อนไหวในอดีตกับปัจจุบัน
10 ปีก่อน | ปัจจุบัน |
กล้อง | |
มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก | มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา |
ความคมชัดน้อย (ขนาดภาพ 720x576 pixel) | ความคมชัดสูง (ขนาดภาพ 1920x1080 pixel) |
ราคาสูง | ราคาต่ำ |
การบันทึก | |
บันทึกลงม้วนเทป (mini DV), แผ่น DVD, Memory Card | บันทึกลงหน่วยความจำขนาดเล็กที่มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูงและ Memory Card |
บันทึกในระบบ Standard Definition: SD | บันทึกในระบบ High Definition: HD |
หากดูจากตารางก็จะเห็นภาพกว้างๆ ของกล้องและการบันทึกภาพ ซึ่งก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักเนื่องจากมีข้อมูลและรายละเอียดทางเทคนิคเยอะมาก เอาเป็นว่าจากกล้องที่เมื่อก่อนต้องแบกน้ำหนักที่มากและขนาดที่ใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นกล้องขนาดเล็ก นอกจากนี้ กล้อง DSLR ปัจจุบันก็นิยมนำมาผลิตรายการโทรทัศน์และวีดิทัศน์เป็นจำนวนมาก หรือ Digital Compact หรือ กล้องมือถือบางรุ่นก็สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวออกมาได้คมชัด สวยงาม น่าพอใจกันเลยทีเดียว
สำหรับการบันทึกก็เปลี่ยนจากม้วนเทปมาเป็นหน่วยความจำขนาดเล็กที่มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูง เช่น SD Card, XD Card ทั้งนี้เนื่องจากเทคโนโลยีการเข้ารหัสววีดิโอที่ทำให้ไฟล์วีดิโอมีขนาดเล็กและมีความคมชัดสูง จึงทำให้สามารถบันทึกในหน่วยความจำขนาดเล็กได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงสำหรับการบันทึกวีดิโอก็คือ format file หรือ นามสกุลไฟล์ ที่ใช้ในการบันทึก เช่น mp4, mov, mts, avchd เป็นต้น รวมทั้งขนาดภาพในการบันทึก เช่น 1080i, 1080p, 720p เป็นต้น
เขียนนอกเรื่องมาเยอะ จากนี้ไปจะเป็นการเข้าหัวข้อของบทความนี้ "อยากตัดต่อ โปรแกรมไหนจึงเหมาะกับตัวเอง?"
อ่านหัวข้อก็คิดได้เลยว่า โปรแกรมตัดต่อมีหลายโปรแกรมจริงไหม คำตอบก็คือ จริงเป็นที่สุด
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า โปรแกรมตัวไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร จุดเด่น จุดด้อย คืออะไร
ถ้าจะให้ตอบจริงๆ ก็คงต้องตอบว่า ต้องลองใช้ด้วยตัวเอง
แต่ถ้าจะให้ตอบเพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินในเลือกหรือลองใช้ด้วยตัวเอง ผมขอเสนอเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบโปรแกรมที่ใช้ในการตัดต่อ
มืออาชีพ (โฆษณา, ภาพยนตร์) |
มืออาชีพ (ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์/วีดิทัศน์) |
มือสมัครเล่น (ผู้ใช้ทั่วไป) |
Avid | Avid | Corel Video Studio Pro |
Final Cut Pro | Final Cut Pro | Movie Maker |
Adobe Premiere Pro | ProShow Gold, Producer | |
EDIUS | Pinnacle Studio | |
Sony Vegas Pro | MAGIX Video Pro | |
CyberLink PowerDirector | ||
Etc. |
ผมจะไม่กล่าวในรายละเอียดทุกโปรแกรม แต่จะกล่าวในภาพรวมของแต่ละระดับ ดังนี้
ระดับมืออาชีพ (โฆษณา, ภาพยนตร์) มีการใช้โปรแกรมหลักๆ อยู่ 2 โปรแกรม คือ Avid และ Final Cut Pro เนื่องจากกระบวนการในการทำภาพยนตร์และโฆษณา จะมีกระบวนการทำงานที่ต้องส่งต่อไปยังกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การล้างฟิล์ม การตัดต่อแบบออฟไลน์ การลงเสียง และการตัดต่อแบบออนไลน์ (สำหรับออกอากาศจริง) ซึ่งกระบวนการทำงานมักจะไม่เสร็จสิ้นในที่เดียว ต้องมีการส่งต่องานกันเป็นทอดๆ ฉะนั้น การใช้โปรแกรมในการทำงานจึงต้องให้สอดคล้องและทำงานร่วมกันได้ ซึ่งก็เป็น 2 โปรแกรมที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเองที่ใช้ในการทำภาพยนตร์และโฆษณา จุดเด่นของโปรแกรมในระดับนี้ก็คือ โปรแกรมจะมีความเสถียรสูง มีฟังก์ชั่นการใช้งานครบถ้วน ส่วนจุดด้วยคือ มีความยืดหยุ่นในการทำงานค่อนข้างน้อย และมีลูกเล่นหรือเอฟเฟ็กน้อยเช่นกัน
ระดับมืออาชีพ (ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์/วีดิทัศน์) มีการใช้โปรแกรมหลักๆ อยู่ 5 โปรแกรม คือ Avid, Final Cut Pro, Adobe Premiere Pro, EDIUS และ Sony Vegas Pro จะสังเกตเห็นว่ามีโปรแกรมที่เพิ่มมาจากกลุ่มแรก 3 โปรแกรมด้วยกัน จุดเด่นของโปรแกรมในระดับนี้ก็คือ มีความยืดหยุ่นในการทำงานค่อนสูงขึ้น และมีลูกเล่นหรือเอฟเฟ็กให้ใช้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมี plugin รองรับจำนวนมาก มีลักษณะการทำงานบน Timeline (พื้นที่ที่ใช้ในการตัดต่อ) คล้ายคลึงกับโปรแกรมในระดับแรก จุดด้อยของโปรมแกรมในระดับนี้ก็ความเสถียรยังสู้โปรแกรมในระดับแรกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แนะนำเพิ่มเติมว่า หากอยากใช้โปรแกรมที่มีความเสถียรใกล้เคียงกับโปรแกรมระดับแรกมากที่สุดแนะนำให้ลองใช้ EDIUS จะแทบไม่เจออาการเปิดโปรเจ็คงานไม่ได้ โปรแกรมค้าง และโปรแกรมดีดเลย
ระดับมือสมัครเล่น (ผู้ใช้ทั่วไป) จะเห็นว่ามีโปรแกรมอยู่หลายตัวมากในกลุ่มนี้ เนื่องจากมีหลายบริษัทที่พยายามผลิตโปรแกรมในระดับนี้ขึ้นมา จุดขายของโปรแกรมในระดับนี้คือ มีลักษณะการใช้งานง่าย มีลูกเล่นกึ่งสำเร็จรูปจำนวนมาก เช่น การใส่ตัวอักษร การใส่ลักษณะพิเศษให้กับภาพ การเปลี่ยนภาพ เป็นต้น ส่วนจุดด้อยคือ แม้จะมีรูปแบบและฟังก์ชั่นการทำงานใกล้เคียงกับโปรแกรม 2 ระดับแรก แต่ยังขาดความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการทำงานทั้งในด้านภาพและเสียงพอสมควร ทั้งนี้อาจเนื่องจากการทำงานบน Timeline ที่แตกต่างจากโปรแกรมใน 2 ระดับแรก และอาจเนื่องจากความเป็นกึ่งสำเร็จรูปจึงทำให้ขอบเขตการแก้ไขมีข้อจำกัด
หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นพอจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกใช้โปรแกรมตัดต่อได้ในระดับหนึ่ง และขอให้มีความสุขกับงานวีดิโอ
ปล. สุภาษิตจีนบอกว่า แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็พอ